วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประสบการณ์จากการสอบเป็น HAM America ภาค2

วันที่11ธันวาคม วันลงสนามสอบเป็นนักวิทยุสมัครเล่นของอเมริกา ผมตื่นแต่เช้าพร้อมกับความมั่นใจ ตรวจสอบสิ่งที่ต้องใช้ให้ครบถ้วน
เริ่มจากเงินจำนวน15$ ผมเตรียมไปเท่านี้เพราะไม่คิดจะสอบซ่อมหากสอบไม่ผ่าน ,สำเนาบัตรประชาชน ที่มีชื่อนามสกุลภาษาอังกฤษ เพราะผมไม่มีพาสสปอต
ปากกา,ดินสอแบบ2B มารู้ตอนสอบว่าใช้แบบHBธรรมดาก็ได้,ยางลบ เท่านี้ครับ เครื่องคิดเลขผมไม่มี ถ้ามีควรเอาไปด้วยนะครับ
ผมเดินทางจากบ้าน7โมงเช้าไปถึง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 8โมงกว่าๆ แบบไม่ได้รีบร้อน เพราะตรงกับวันหยุดต่อเนื่อง การจราจรคล่องตัว แต่ผมต้องพึ่งแทกซี่ เพราะไปไม่ถูก
ไปถึงก็ได้พบกับผู้เข้าสอบหลายๆท่าน ผมไม่รู้จักใครสักคน เคยเห็นรูปบางท่าน ก็พอเดาได้บ้างว่าใครเป็นใคร
เวลา9โมงตรง กรรมการเรียกเข้าห้องสอบ มีVEจำนวน6ท่านครับ เป็นคนไทย1ท่าน แนะนำการกรอกเอกสาร แบบฟอร์ม605มีข้อสงสัยให้ถามครับ กรรมการย้ำเรื่องชื่อและที่อยู่ให้ถูกต้อง การกรอกชื่อเป็นแบบฝรั่ง คือเอานามสกุลขึ้นก่อน
ในห้องสอบเขาสอบพร้อมกันทุกท่านครับไม่ว่าจะสอบใหม่ หรือสอบเลื่อนขั้น มีทั้งไทย ฝรั่ง ญี่ปุ่น ที่ฮามากคือฝรั่งชาวอเมริกันท่านนึง ถึงจะเป็นอเมริกันแต่ไม่มีcallsignอเมริกา
ท่านใช้callsignของลาวในการลงทะเบียนสอบ พูดไทยชัดครับ มีมุกตลกเรียกเสียงฮาจากคนทั้งห้อง
มาถึงการสอบ กรรมการแจกกระดาษคำตอบ พร้อมแนะนำการกรอกข้อมูล ตามด้วยใบคำถาม เขาจะแบ่งเป็นสีครับ สีส้ม สีชมพู สีเหลืองตามลำดับขั้น
ถึงจะสีเดียวกันแต่คำถามจะเป็นคนละชุดไม่ซ้ำกัน ผมอ่านและกาคำตอบทุกข้ออย่างมั่นใจ
ข้อสอบเอามาจากข้อสอบกลางที่ได้เผยแพร่ไว้ครับ แต่ข้อสอบจะไม่เรียงกลุ่ม1 2 3...ถึง0 จะสลับไปมา และตัวเลือกก็abcdสลับตำแหน่งเช่นกัน เพิ่มความยากขึ้นเล็กน้อย สำหรับคนที่เตรียมตัวมาดีไม่ใช่ปัญหาครับ
หลังทำเสร็จ ผมตรวจทานให้แน่ใจอีกรอบ ทุกคำตอบมีค่า ไม่อยากเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เรื่องเวลาไม่ต้องกังวลครับ ไม่มีกำหนดไว้ มีคนทำเสร็จในเวลาอันรวดเร็วหลายท่าน
ผู้ที่ทำเสร็จแล้วไปนั่งรอในห้องที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ บางท่านก็รอกันหน้าห้องสอบ
ผมและผู้เข้าสอบ รอการตรวจข้อสอบของกรรมการอยู่พักใหญ่ๆ กรรมการประกาศผลทีละคน ผู้สอบผ่านกรรมการจะถามว่าจะสอบต่อหรือไม่ ถ้าต้องการสอบต่อ ก็เชิญเข้าห้องสอบ
 แน่นอน ต้องมีชื่อผมอยู่ด้วย ผมเข้าสอบGeneralบางท่านที่ไม่ผ่านก็ใช้สิทธิ์สอบซ่อมต้องจ่ายอีก15$ตามระเบียบ ผมใช้ความรอบคอบเหมือนเดิม มีบางข้อไม่มั่นใจเหมือนกันมีโอกาสได้ใช้ยางลบอยู่ข้อนึงครับ 
เช่นเดิมครับรอกรรมการตรวจ และประกาศผล ทั้งผ่าน ทั้งซ่อม และหยุด ปนกันไปครับ
 ผมผ่านGeneralตามที่ตั้งใจ แต่สละสิทธิ์ในการเข้าสอบExtra เพราะว่าผมไม่ได้เตรียมตัวมาเลยเนื้อหายากมากๆ ถ้าผมเข้าสอบ ผลลัพล์พอคาดได้เลยว่าตกแน่นอน แม้เพื่อนๆที่รอผลอยู่ด้วยกันก็ขอให้ลองสอบ ผมปฎิเสธเพราะไม่พร้อม
 แต่มีผู้เข้าสอบExrtraหลายท่านครับ แล้วก็ผ่านซะด้วย
ท้ายสุดกรรมการแจกcertificate CSCEให้กับผู้สอบผ่านทุกท่าน  แล้วก็ให้รอcallsign ที่ทางFCCจะส่งให้ตามที่อยู่ในอเมริกาที่เราระบุไว้
สรุปผลการสอบ US Exam (11 Dec 2010) สอบผ่าน EXTRA = 6 (upgrade 2), Gen = 5, Tech = 7 และไม่ผ่าน 6 (upgrade 3) ครับ
  หลายคนคงอยากรู้ว่าสอบแล้วได้อะไร ถ้าอยู่ในประเทศไทยและเป็นคนไทย จะไม่มีผลอะไร เอาไปเทียบอะไรไม่ได้แม้กฏจะเปิดช่องไว้แต่ผู้คุ้มกฏท่านไม่เคยให้สิทธิ
คนที่เดินทางไปต่างประเทศ ดูจะได้ประโยชน์กว่า ถ้าไปอเมริกาก็ออกอากาศได้เลยตามขั้นของใบอนุญาต ถ้าเป็นประเทศอื่นใช้การเทียบได้ครับ ส่วนมากเขายอมรับใบอนุญาตของอเมริกา
จะได้เท่าไรก็ตามระเบียบของแต่ละประเทศ สำหรับผม อยู่แต่ในประเทศไทย สิ่งที่ได้มีเพียงประสบการณ์จริงที่ได้เรียนรู้วิธีการสอบที่แตกต่างกันออกไป วิธีการดูง่าย รวดเร็ว
และการสอบเป็นกลุ่มเล็กๆ ทำให้มีการพูดคุยกัน เข้าใจความเป็นวิทยุสมัครเล่นมากขึ้น ในเมืองไทยน่าจะเอาวิธีการนี้ไปใช้นะครับ สมาคมที่ต้องการมีรายได้เลี้ยงองกรค์จะมีเงินข้ามาเรื่อยๆไม่ต้องรอปีละครั้ง
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมกับตัวนักวิทยุสมัครเล่นจะมีมากขึ้น ไม่ใช่สอบผ่านก็โบกมือลาไม่รู้จักกัน แต่สิ่งที่สำคัญมากๆ คือต้องซื่อสัตย์ ไม่มีการยัดเงินหรือเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะเพื่อให้สอบผ่าน
เราจะได้นักวิทยุสมัครเล่น มากกว่านักใช้วิทยุในความถี่สมัครเล่น แบบในปัจจุบัน
 ผู้ที่อยากลองสอบดูบ้าง ผู้จัดประเมินไว้ว่าน่าจะอีก3เดือนข้างหน้าจะจัดสอบได้อีกครั้งนึง ผมจะอ่านหนังสือเพิ่ม เพื่อหาความรู้จากข้อสอบExtra แต่จะลงสอบหรือไม่ ไว้ตัดสินใจภายหลัง
เทคนิคสำหรับเตรียมสอบที่ผมใช้คือ จำคำถามและจำเฉพาะคำตอบที่ถูกต้อง ดูให้คุ้นตาครับ จำทีละหมวด ทีละน้อย อย่าไปหักโหม ผมใช้โปแกรมชื่อ Ham Acadamy มาทดสอบทำข้อสอบ
และทดสอบทำข้อสอบonline มีในหลายๆเวปครับ ที่ถูกใจคือ http://www.hamradiolicenseexam.com/index.html จะคล้ายกับข้อสอบจริง และมีสรุปให้เราด้วยครับ วางแผนบริหารช่วงเวลาให้ดีครับ ไม่งั้นจะได้หน้าแต่ลืมหลัง
ตอนแรกก็อยากจะลองExtraแต่อ่านคร่าวๆแล้วยากมาก เวลาคงไม่พอ ผมตัดไปเลยจะได้ไม่กังวล เอาเท่าที่พอทำได้ครับ อย่าลืม ความตั้งใจกับเวลา มีสองสิ่งนี้ รับรองผ่านครับ

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประสบการณ์จากการสอบเป็น HAM America ภาค1

ผมได้ทราบข่าวการเปิดสอบเพื่อเป็นนักวิทยุสมัครเล่นของอเมริกา จากทวิทเตอในเวปบอร์ด100watts.com ซึ่งได้linkไปที่เวปของRASTที่ http://www.qsl.net/rast/
มีข้อมูลเล็กๆ ให้ไปดูข้อสอบที่จะใช้สอบและวันเวลาสถานที่สอบ ต่อจากนั้นไม่กี่วันในบอร์ด100watts เอารายละเอียดมาลงเพิ่มเติม คราวนี้ลองเอาข้อสอบมาอ่านดู ซึ่งคร่าวๆก็อยู่ในวิสัยที่จะทำข้อสอบได้
เงื่อนไขในการสมัครเราก็มีพร้อมยกเว้นเรื่องที่อยู่ในอเมริกา ซึ่งเราไม่มีแต่ไม่เป็นไร ไว้แก้ปัญหาเอาทีหลังมีเวลาตั้งสามเดือน ใช้เวลาอยู่1สัปดาห์ในการตัดสินใจว่าจะสอบแน่ๆ
เริ่มจากการหาความรู้เสริมจากเนื้อหาในข้อสอบ เพราะหลายๆข้อเราไม่รู้มาก่อน บางข้อก็ลืมไปแล้ว ผมทำความเข้าใจแนวข้อสอบที่ทำจากpowerpoint  ช่วยได้มากครับ
แนวทางการจำที่ฝรั่งทำสรุปเอาไว้ก็พอช่วยได้ เป้าหมายของผมอยู่ที่สอบผ่านGenernal เท่านั้น ส่วนขั้นExtraนั้นยากไปครับ ยังไม่ถึงเวลา ไว้คราวหน้าครับ
รูปแบบวิธีการสอบของอเมริกาต่างจากในบ้านเราครับ ของเขาสอบอย่างเดียวไม่มีนั่งหลับแล้วกาตามโพยแบบบ้านเรา
ในอเมริกาแบ่งนักวิทยุสมัครเล่นออกเป็น3ขั้น คือ Technician General และExtra ลดลงจาก5ขั้นในสมัยก่อน และไม่ต้องสอบรหัสมอสแล้วครับ
ข้อสอบที่ใช้เป็นข้อสอบกลางมีการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ จะปรับปรุงใหญ่ทุกๆ4ปี ข้อสอบของแต่ละชั้นเขาจะแบ่งออกเป็น10หมวดตามความรู้แขนงต่างๆ ในแต่ละหมวดจะมีกลุ่มย่อย และในแต่ละกลุ่มจะมีหลายๆข้อ
เขาจะสุ่มมากลุ่มละข้อโดยใช้เกณดังนี้
Technician ข้อสอบ35ข้อ ต้องผ่าน29ข้อ
General ข้อสอบ35ข้อ ต้องผ่าน29ข้อ
Extra ข้อสอบ50ข้อ ต้องผ่าน37ข้อ
ค่าสมัครเขาเรียกเก็บ15เหรียญสหรัฐครับ ต้องจ่ายเป็นDollar เงินไทยไม่รับครับ อายุ เพศ วัย เชื้อชาติ สัญชาติ การศึกษา ไม่กำหนดครับ ขอให้ทำข้อสอบที่เป็นภาษาอังกฤษได้ก็พอ
เงินค่าสมัครจ่าย15$ สอบได้ทั้ง3ขั้นเลยครับ สำหรับคนที่ไม่เคยสอบมาก่อน บ้านเราบางจังหวัดที่จัดสอบก็เก็บเกินกำหนดที่ระบุไว้ ใครไม่จ่าย ไม่ขายใบสมัครให้
เมื่อเราทำข้อสอบ เราส่งใบคำตอบ จะได้รับการตรวจในทันที และประกาศผลเดี๋ยวนั้นเลยว่าสอบผ่านหรือเปล่าถ้าผ่านก็ทำข้อสอบขั้นต่อไปถ้าไม่ผ่านก็ขอสอบซ่อมได้แต่ต้องจ่ายอีก15$ตามกฏ
หลังสอบจนพอใจ เราจะได้ใบCertificates ยืนยันผลการสอบ จากนั้นต้องรออีกประมาณสองสัปดาห์FCC จะส่งใบอนุญาตและcallsign ทางจดหมายไปตามที่อยู่ที่เราให้ไว้แต่ต้องในอเมริกานะครับ เขาไม่ส่งมาเมืองไทย
ในบ้านเรากว่าจะรู้วันสอบ วันขายใบสมัคร กว่จะไปสอบ ประกาศผลสอบ รอใบประกาศนียบัตร ใช้เวลาเป็นปี ดีนะที่ยกเลิกระเบียบการสอบประวัติไปแล้ว หรือถ้าจะสอบเลื่อนขั้นเป็นขั้นกลางต้องรออีกสามชาติ
หน่วยงานที่ดูแลวิทยุสมัครเล่นในอเมริกา คือFCC เมื่อก่อนก็จัดสอบเองแต่ปัจจุบันจะมอบหมายให้องกรค์ที่เรียกว่าVEC เป็นคนจัดสอบ VEC จะมีสมาชิกเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่มีใบอนุญาตระดับGeneralขึ้นไปมาทำหน้าที่VE
หรืออาสาสมัครคุมสอบ ซึ่งใช้VEเพียง3คนแต่VEที่คุมสอบต้องมีระดับที่สูงกว่าขั้นที่จะสอบ เช่นจัดสอบTechnicianต้องใช้Generalขึ้นไป ถ้าสอบGeneralต้องใช้ AdvanceหรือExtra
กำหนดวันสอบนี่ก็ง่ายครับ รวมตัวกันให้ได้จำนวนนึงก็ขอสอบได้แล้ว ไม่ต้องรอปีละครั้งแบบบ้านเรา แต่จะประกาศล่วงหน้าทางเวปครับ เราไปหาดูได้ว่าเมืองใกล้บ้านเราเขาจะสอบเมื่อใด
 ผมใช้เวลา3เดือนก่อนวันสอบทำความเข้าใจข้อสอบไปเรื่อยๆครับ ไม่กังวลอะไร ยกเว้นเรื่องที่อยู่ในอเมริกา จนได้ E20EHQ ให้ใช้ที่อยู่ของเพื่อนในอเมริกา ผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ผมถึงได้ส่งเอกสารไปลงทะเบียน ตามกฏของผู้จัดในประเทศไทย
ในตอนนี้ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว ไว้วันสอบเจอกันครับ คราวนี้ของจริง