วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

just learn morse code

โปรแกรมฝึกรหัสมอร์สที่มีชื่อแบบตรงไปตรงมา just learn morse code
โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมฝึกรหัสมอร์สในแบบของ Koch Medthod แบบเดียวกับโปรแกรม Koch Medthod CW Trainer ของG4FON
ที่หลายๆคนเคยใช้อยู่ แต่มีลูกเล่นที่ยืดหยุ่นกว่าของ G4FON ที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือโปรแกรมนี้ไม่มีฟังชั่นสร้างเสียงรบกวน ไม่เป็นไร มือใหม่ไม่ได้ใช้
ส่วนข้ออื่นๆดีกว่า ที่ดูเด่นกว่าคือสามารถพิมพ์คำตอบลงในโปรแกรมแล้วโปรแกรมจะคำนวนให้เลยว่าตอบถูกกี่เปอเซ็นต์ จึงเพิ่มตัวอักษรใหม่เข้าไป
อันเป็นหลักการสำคัญของการฝึกแบบ Kock Medthod คือเริ่มฝึกความเร็วสูง ตอบให้ถูกไม่ต่ำกว่า90%  และเพิ่มทีละตัว
Ludwig Koch นักจิตวิทยาชาวเยอรมันคิดวิธีนี้ไว้ตั้งแต่ปี1930 นานมากนะครับ แต่ถูกเผยแพร่โดยDavid G. Finley, N1IRZ เมื่อปี1995นี่เอง
วิธีการนี้ถูกถ่ายทอดต่อกันมาว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดี ดีกว่าวิธีแบ่งกลุ่มที่เราเคยใช้กันเช่นE I S H T M O  ซึ่งจำง่ายแต่จะพัฒนาไปใช้งานจริงจะช้ากว่า
เพราะการแบ่งกลุ่มเราจะฝึกด้วยความเร็วต่ำ ส่วนการใช้งานจริง ระดับทั่วไปต้องเริ่มที่25คำต่อนาที
นายKochกำหนดให้รับที่ความเร็ว15-20คำต่อนาที (ในโปรแกรมนี้เริ่มที่18คำ) อย่าให้ต่ำกว่านี้และให้รับต่อเนื่องเป็นเวลา5นาที
โปรแกรมนี้สามารถปรับระยะห่างระหว่างตัวอักษรได้ด้วย เรียกว่าFarnsworth Medthod ตามแนวคิดของDonald R. Farnsworth W6TTB
คำแนะนำคือปรับword speedให้ช้าพอที่จะแยกแยะตัวอักษรออก พอทดสอบผ่าน90%แล้ว ก็ปรับความเร็วขึ้นเรื่อยๆจนความเร็วตรงตามมาตรฐาน
ของการรับส่งรหัสมอร์ส หรือตัวเลข word speed และ caractor speedท่ากัน
 ถ้าดูในoptionมีตัวเลือกที่น่าสนใจคือ Learn ถ้าเลือกตัวนี้ โปรแกรมจะสุ่มตัวอักษรออกมาโดยเน้น ตัวอักษรที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เช่นเรากำลังหัดรับ K M R S U A P
ตัวอักษรที่ส่งออกมาจะมีตัว PและA ออกมาบ่อยมาก  แต่ถ้าเลือกPractice โปรแกรมจะสุ่มตัวอักษรออกมาเท่าๆกัน
นอกจากนี้ยังสามารถสุ่มQ codeและคำศัพท์จริง ให้เราลองรับอีกด้วย

สำหรับผู้เริ่มฝึกหัดเพื่อต้องการสอบขั้นกลาง  ให้ฝึกด้วยการเขียนลงบนกระดาษนะครับ เพื่อสร้างความเคยชินในการเขียนเร็วๆ อย่าใช้keyboardนะครับ
ในระยะแรกจะเขียนไม่ทันครับ แม้สมองจะสามารถรับรู้ได้ว่าตัวอักษรที่ส่งมาคือตัวอะไร ให้ฝึกหัดไปเรื่อยๆครับไม่ต้องใจร้อน
เพราะในชีวิตจริงเราไม่มีโอกาสได้เขียนภาษาอังกฤษสักเท่าไร ให้ร่างกายได้ปรับสภาพ จะเขียนเป็นตัวเขียน ตัวพิมพ์ ตัวเล็ก ตัวใหญ่
ต้องลองเอาครับ ไม่มีสูตรสำเร็จ อย่างตัวผมเองใช้เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เพราะถ้าใช้ตัวเขียนเล็กจะพบว่าตัวอักษรบางตัวเขียนออกมาคล้ายกันเกินไป
เมื่อฝึกจนชำนาญ รับได้ทุกตัวที่ความเร็วสูงๆให้พัฒนาปรับความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ รับจากคำศัพท์จริง คราวนี้จะง่ายขึ้น และจะไม่ต้องจด สามารถบันทึกในสมองได้
เนื่องจากเป็นคำที่อ่านออก แม้บางตัวจะรับขาดหายแต่จะเดาคำที่ถูกได้
 ผู้ที่ฝึกเพื่อสอบ ก่อนสอบสัก1สัปดาห์ต้องลดความเร็วลงมานะครับให้เหลือแค่10คำก็พอ คุณจะพบว่าเสียงมันจะยืดมาก และให้ปรับToneเสียง หลายๆระดับนะครับ
เพราะเราจะเจอToneที่เราไม่คุ้นเคย อีกปัญหาที่เจอกันประจำคือเสียงก้อง  ให้ใช้โปรแกรมแต่งเสียงทำเสียงก้องเพื่อให้เราคุ้นกับเสียงหลายๆแบบ

ขณะที่เขียนblogนี้ ยังไม่มีประกาศรับสมัครสอบจาก กสทช.อย่างเป็นทางการ แต่มีกำหนดออกมาแล้วคือวันที่ 21มกราคม2555
ขอให้ทุกท่านที่สนใจใช้เวลาตรงนี้ฝึกฝนให้ชำนาญ เมื่อมีประกาศสอบออกมาเราจะได้ใช้เวลาที่เหลือไปศึกษาเรื่องทฤษฎี
เพราะมีความยากกว่า เนื่องจากเป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อนและต้องมีผู้รู้มาช่วยอธิบาย

โปรแกรมนี้หาได้ที่ http://www.justlearnmorsecode.com/

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

VEภาคพิศดาร

หลังจากการสอบวันที่2เมษา ผ่านพ้นไป ผมคิดว่าการทำหน้าที่VEของผมครบสมบูรณ์แล้ว รอแค่FCCออกcallsignเท่านั้น
แต่มันไม่จบ เพราะเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ผลสอบก็ยังไม่ออกจนมีผู้เข้าสอบท่านนึง ไปตั้งกระทู้ในบอร์ด
คนที่ตั้งกระทู้ไม่ใช่ใครอื่น เคยมีบ้านห่างจากบ้านผมแค่5กิโลเมตร
เนื้อหากล่าวตำหนิคณะผู้จัดสอบ แน่นอนว่าผู้จัดต้องร่วมรับผิดชอบว่าทำไมผลสอบไม่ออก ผมไม่ว่าคนนั้นหรอก เพราะเขาคือผู้เสียหาย
แต่ที่น่าเสียใจสำหรับผม คือการโดนตำหนิจากคนอื่นๆ ที่เป็นVEบางท่าน สั่งสอนต่างต่างนานา เปรียบเสมือนผู้จัดสอบเป็นคนไร้ความสามารถ
ไร้ความรับผิดชอบ แทนที่จะช่วยให้คำแนะนำ ช่วยกันแก้ไขปัญหา กลับไล่ให้ไปอ่านคู่มือหน้านั้นหน้านี้
ผิดหวังครับ .....
VEบางท่าน ก็ดีมากครับ มีความเป็นผู้ใหญ่ ทั้งความคิด การกระทำ มีเหตุผลมากพอ น่านับถือ
ตัวผมไม่ได้นิ่งนอนใจ ผมทำตามความคิดของผม สอบถามไปทางARRLก่อนที่หลายๆคนทำหรือสอนให้ทำ  แต่คำตอบที่ได้ ไม่ได้ช่วยอะไร เขาให้รอเท่านั้น
ผมเลยเฉยๆเพราะยิ่งแสดงความเห็น พวกบ้าพลัง ก็พยายามจับผิดมาตำหนิติเตียน
ผมสอบถามไปเป็นระยะ คำตอบเดิม คือให้รอ
จนไม่กี่วันที่ผ่านมา ลองตรวจสอบดูอีกครั้ง หลังจากลองมาทุกๆอาทิตย์ พบว่าผลสอบออกแล้ว ดีใจครับ
สำหรับเหตุผลว่าทำไมถึงออกช้า เหมือนเดิมครับ   เขาไม่บอก
คงจบแล้วครับ แต้มต่อแค่1คะแนน สำหรับผม พอแล้ว
ผมทำในเรื่องที่ผมถนัดดีกว่า

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

แฮมอเมริกา ภาคVE

 เมื่อการสอบเป็นนักวิทยุสมัครเล่นของสหรัฐอเมริกาเสร็จสิ้น ผมได้ผ่านการทดสอบทั้ง3ขั้น ลำดับต่อไปคือการสมัครเพื่อเป็นอาสาสมัครคุมสอบหรือVE
ซึ่งเป็นจุดประสงค์นึง ของผู้ที่จัดสอบในเมืองไทย คือต้องการเพิ่มจำนวนVEคนไทยให้มีมากพอสำหรับการจัดสอบครั้งต่อๆไป ไม่ต้องใช้VEชาวต่างชาติ
ผู้จะเป็นVEต้องมีใบอนุญาตขั้นGeneralขึ้นไป ผมได้ขั้นExtraจึงคุมสอบได้ทุกclass  การเป็นVEเป็นได้ด้วยการสมัคร ผู้สมัครจะส่งเอกสารที่จำเป็นไปยังVEC
ตัวผมและท่านอื่นๆสมัครกับARRL/VEC ผู้สมัครต้องเข้าใจกฏ กติกา จากVE Manual  มีทุกอย่างที่ต้องรู้ พร้อมทั้งทำแบบทดสอบความเข้าใจ40ข้อ
ส่งไปที่ARRL/VEC ผมจัดทำเอกสารทั้งหมดเป็นpdf เพื่อความสะดวกในการส่ง คำถามต่างๆหาคำตอบได้ในคู่มือ และกฎข้อ97 บางคำถามแปลไม่ออก ต้องหาข้อมูล
จากคำแนะนำสำเร็จรูป(เฉลย)จากเน็ท และได้ความช่วยเหลือจากE20EHQเช่นเดิม ผมรอจนชื่อในFCC database เปลื่ยนเป็นจากGeneralเป็นExtra
ผมส่งเอกสารไปในวันนั้นเลย โดยต้องscanลายเซ็นจริง ลงไปด้วยเนื่องจากส่งเป็นpdf ไม่ได้scanเป็นjpegหรือส่งทางFax เพราะเห็นว่าสะดวกที่สุด
หลังเอกสารเรียบร้อยและส่งไปแล้ว 6ชั่วโมงจากนั้น มีmailตอบกลับจากARRL ว่าได้รับเอกสารแล้วจะใช้เวลาตามขั้นตอนประมาณ3สัปดาห์
เราสามารถตรวจสอบได้ว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นVEอย่างเป็นทางการได้ที่ http://www.arrl.org/ve-session-counts โดยไม่ต้องรอเอกสารทางไปรษณีย์
สำหรับคนไทยต้องเลือก Non-US มีคนไทยหลายท่านที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว
ผู้ที่ผ่านการคุมสอบแล้วจะมีจำนวนครั้งบอกไว้หลังสัญญาณเรียกขาน คนไทยแต้มยังน้อยครับ มีฝรั่งบางท่านมีแต้มเกิน100แต้ม โอ้โห มืออาชีพ
   ผมได้รับการติดต่อล่วงหน้า ให้คุมสอบที่สถาบันการบินพลเรือน หน้าตลาดนัดสวนจตุจักร แต่ชื่อของผมยังไม่ปรากฏในweb ทางผู้จัดได้e-mailสอบถามไปยังARRL
เพราะใกล้วันสอบแล้ว ได้รับคำตอบว่าผมสามารถปฎิบัติหน้าที่VEได้ และวันถัดมาชื่อผมก็ขึ้นในwebพร้อมกับคนไทยอีก3ท่าน ทันเวลาทำหน้าที่
   การรับหน้าที่VEครั้งแรกของผม ผมใช้เวลาที่มีแปลคู่มือเอาในส่วนของการคุมสอบเท่านั้นครับ เรื่องเอกสารหลังสอบให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าทีม
ก่อนสอบต้องซักซ้อมความเข้าใจให้ตรงกัน หน้าที่ของผมในวันนั้นคือ แจกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และลงลายเซ็นใน กระดาษคำตอบ ,form605และCSCE
การสอบครั้งนี้มีผู้สอบผ่านเป็นExtraภึง7ท่าน จากการอับเกรด1ท่าน สอบใหม่ครั้งแรก6ท่าน เป็นสุภาพสตรีถึง3ท่าน ผู้เข้าสอบล้วนเป็นคนหนุ่มสาวความสามารถสูง
มีนักวิทยุรุ่นเก่าอยู่แค่5ท่าน
  ตอนเช้าของวันที่18เมษา ผมได้รับเอกสารจากARRL ในซองมีประกาศนียบัตรและบัตรติดเสื้อ รับรองการเป็นVEอย่างเป็นทางการ เดินทางมาช้าหน่อยเพราะบุรุษไปรษณี
หยุดเที่ยวสงกรานตร์ไปหลายวัน ดูวันที่หน้าซองระบุว่าส่งจากอเมริกาวันที่7 เมษา ระยะเวลานับตั้งแต่วันสมัครถึงวันรับเอกสารกินเวลา38วัน
  ประสบการณ์ทั้งหมดผมถือว่าครบสมบูรณ์แล้ว สำหรับการเป็นนักวิทยุสมัครเล่นของประเทศสหรัฐอเมริกา คงเหลือแต่การออกอากาศจริงด้วยสัญญานเรียกขานนี้
ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อใด

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เมื่อผมสอบเป็นนักวิทยุสมัครเล่นอเมริกา ตอน3

หลังจากสอบผ่านไปไม่กี่วัน คณะผู้จัดสอบส่งเอกสารทั้งหมดไปที่ARRL-VEC  ชื่อของผมก็ปรากฏบนwebของ FCC ใช้เวลา 13วันเท่านั้นนับจากวันสอบ ส่วนlicenseต้องรอจนถึงต้นมกราคม
เพราะติดเทศกาลคริสมาสต์ ไปรษณ์อเมริกาหยุดพักผ่อน
 ผมรอlicenseอยู่นานพอสมควรเพราะผู้จัดส่งติดปัญหาบางประการ ไม่เป็นไรครับ ผมรอได้ ระหว่างนั้นผมฝึกฝนการทำข้อสอบขั้นExtra ซึ่งยากมากสำหรับความรู้ผมมี
วิธีการฝึก ผมใช้โปรแกรม Ham acadamyและ Ham radio examมาช่วยฝึก ทั้งสองโปรแกรมหาดาวโหลดได้ฟรี  โปแกรมช่วยได้เยอะครับ ทบทวนซ้ำได้หลายๆหนในหัวข้อที่ทำความเข้าใจได้ยาก
สามารถจำลองข้อสอบที่ใกล้เคียงของจริง
 กำหนดการสอบครั้งถัดไปคือ26กุมภาพันธ์ ผมได้รับความอนุเคราะห์เรื่องที่อยู่ในอเมริกาเช่นเคย ความมั่นใจในการสอบผ่านมีครับ จากการทดสอบด้วยโปรแกรม
และจากweb ผมได้คะแนนประมาณ90เปอเซ็นด์กว่า เพียงพอที่จะสอบผ่าน โอกาสพลาดก็ยังมี ผมจะสอบครั้งเดียวไม่สอบซ่อม 
 ก่อนวันสอบผมมีอาการปวดศรีษะเนื่องจากอากาศเปลื่ยนกระทันหันจากร้อนจัดเป็นฝนตก หวังว่าวันสอบคงหายทัน
เช้าวันสอบฝนตกมาพอสมควร ผมต้องรีบออกแต่เช้าจะได้ไม่เจอปัญหารถติด ไปถึงก็เกือบสามโมงเช้า หาตึกที่สอบอยู่นานครับ ช่วงนั้นเป็นช่วงสอบของนักศึกษาพอดี
อาคารเลยเต็มเกือบทุกห้อง ดีครับมีอาหารตาให้ดูเยอะ
 เริ่มสอบตอน9.30น เพราะหลายท่านหาห้องสอบไม่เจอ จากผู้ลงทะเบียน33ท่านมาสอบไม่ครบครับ แต่บรรยากาศคึกคักเหมือนเดิม ผมทำข้อสอบอย่างรอบคอบ
มีติดขัดไม่กี่ข้อ ตรวจทานให้เรียบร้อยก่อนออกจากห้องสอบ รอผลสอบพร้อมกับเพื่อนๆ ผมตอบผิดไป5ข้อ สอบผ่านดังความตั้งใจ
 การสอบครั้งต่อไป จะย้ายไปจัดที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี วันที่26มีนาคม พร้อมกับงาน "วิทยุสมัครเล่นมีมากกว่าที่คิดครั้งที่2" ผมคงไม่มีโอกาสได้ไปเห็นบรรยากาศการสอบในต่างจังหวัด
ซึ่งน่าจะมีผู้เข้าสอบอยู่ไม่น้อย เพราะหลายๆท่านเตรียมตัวมาสอบที่กรุงเทพไม่ทัน การไปสอบที่ส่วนภูมิภาคจะเป็นการกระจายโอกาสและกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการพัฒนา
ความรู้ความสามารถให้มากยิ่งขึ้น ถ้าจำนวนผูสนใจมากพอ การจัดสอบอาจกระจายไปได้ทั่วทุกภาค  จะได้ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ค่าที่พัก
การสอบที่ส่วนกลางในกรุงเทพ น่าจะประมาณเดือน มิถุนายน หวังว่าจะมีผู้เข้าสอบมากขึ้นนะครับ
สำหรับตัวผม จะรอให้มีชื่อในเวปFCC จะรีบทำการสมัครเป็นVEเพราะได้เตรียมเอกสารไว้พร้อมแล้ว

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประสบการณ์จากการสอบเป็น HAM America ภาค2

วันที่11ธันวาคม วันลงสนามสอบเป็นนักวิทยุสมัครเล่นของอเมริกา ผมตื่นแต่เช้าพร้อมกับความมั่นใจ ตรวจสอบสิ่งที่ต้องใช้ให้ครบถ้วน
เริ่มจากเงินจำนวน15$ ผมเตรียมไปเท่านี้เพราะไม่คิดจะสอบซ่อมหากสอบไม่ผ่าน ,สำเนาบัตรประชาชน ที่มีชื่อนามสกุลภาษาอังกฤษ เพราะผมไม่มีพาสสปอต
ปากกา,ดินสอแบบ2B มารู้ตอนสอบว่าใช้แบบHBธรรมดาก็ได้,ยางลบ เท่านี้ครับ เครื่องคิดเลขผมไม่มี ถ้ามีควรเอาไปด้วยนะครับ
ผมเดินทางจากบ้าน7โมงเช้าไปถึง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 8โมงกว่าๆ แบบไม่ได้รีบร้อน เพราะตรงกับวันหยุดต่อเนื่อง การจราจรคล่องตัว แต่ผมต้องพึ่งแทกซี่ เพราะไปไม่ถูก
ไปถึงก็ได้พบกับผู้เข้าสอบหลายๆท่าน ผมไม่รู้จักใครสักคน เคยเห็นรูปบางท่าน ก็พอเดาได้บ้างว่าใครเป็นใคร
เวลา9โมงตรง กรรมการเรียกเข้าห้องสอบ มีVEจำนวน6ท่านครับ เป็นคนไทย1ท่าน แนะนำการกรอกเอกสาร แบบฟอร์ม605มีข้อสงสัยให้ถามครับ กรรมการย้ำเรื่องชื่อและที่อยู่ให้ถูกต้อง การกรอกชื่อเป็นแบบฝรั่ง คือเอานามสกุลขึ้นก่อน
ในห้องสอบเขาสอบพร้อมกันทุกท่านครับไม่ว่าจะสอบใหม่ หรือสอบเลื่อนขั้น มีทั้งไทย ฝรั่ง ญี่ปุ่น ที่ฮามากคือฝรั่งชาวอเมริกันท่านนึง ถึงจะเป็นอเมริกันแต่ไม่มีcallsignอเมริกา
ท่านใช้callsignของลาวในการลงทะเบียนสอบ พูดไทยชัดครับ มีมุกตลกเรียกเสียงฮาจากคนทั้งห้อง
มาถึงการสอบ กรรมการแจกกระดาษคำตอบ พร้อมแนะนำการกรอกข้อมูล ตามด้วยใบคำถาม เขาจะแบ่งเป็นสีครับ สีส้ม สีชมพู สีเหลืองตามลำดับขั้น
ถึงจะสีเดียวกันแต่คำถามจะเป็นคนละชุดไม่ซ้ำกัน ผมอ่านและกาคำตอบทุกข้ออย่างมั่นใจ
ข้อสอบเอามาจากข้อสอบกลางที่ได้เผยแพร่ไว้ครับ แต่ข้อสอบจะไม่เรียงกลุ่ม1 2 3...ถึง0 จะสลับไปมา และตัวเลือกก็abcdสลับตำแหน่งเช่นกัน เพิ่มความยากขึ้นเล็กน้อย สำหรับคนที่เตรียมตัวมาดีไม่ใช่ปัญหาครับ
หลังทำเสร็จ ผมตรวจทานให้แน่ใจอีกรอบ ทุกคำตอบมีค่า ไม่อยากเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เรื่องเวลาไม่ต้องกังวลครับ ไม่มีกำหนดไว้ มีคนทำเสร็จในเวลาอันรวดเร็วหลายท่าน
ผู้ที่ทำเสร็จแล้วไปนั่งรอในห้องที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ บางท่านก็รอกันหน้าห้องสอบ
ผมและผู้เข้าสอบ รอการตรวจข้อสอบของกรรมการอยู่พักใหญ่ๆ กรรมการประกาศผลทีละคน ผู้สอบผ่านกรรมการจะถามว่าจะสอบต่อหรือไม่ ถ้าต้องการสอบต่อ ก็เชิญเข้าห้องสอบ
 แน่นอน ต้องมีชื่อผมอยู่ด้วย ผมเข้าสอบGeneralบางท่านที่ไม่ผ่านก็ใช้สิทธิ์สอบซ่อมต้องจ่ายอีก15$ตามระเบียบ ผมใช้ความรอบคอบเหมือนเดิม มีบางข้อไม่มั่นใจเหมือนกันมีโอกาสได้ใช้ยางลบอยู่ข้อนึงครับ 
เช่นเดิมครับรอกรรมการตรวจ และประกาศผล ทั้งผ่าน ทั้งซ่อม และหยุด ปนกันไปครับ
 ผมผ่านGeneralตามที่ตั้งใจ แต่สละสิทธิ์ในการเข้าสอบExtra เพราะว่าผมไม่ได้เตรียมตัวมาเลยเนื้อหายากมากๆ ถ้าผมเข้าสอบ ผลลัพล์พอคาดได้เลยว่าตกแน่นอน แม้เพื่อนๆที่รอผลอยู่ด้วยกันก็ขอให้ลองสอบ ผมปฎิเสธเพราะไม่พร้อม
 แต่มีผู้เข้าสอบExrtraหลายท่านครับ แล้วก็ผ่านซะด้วย
ท้ายสุดกรรมการแจกcertificate CSCEให้กับผู้สอบผ่านทุกท่าน  แล้วก็ให้รอcallsign ที่ทางFCCจะส่งให้ตามที่อยู่ในอเมริกาที่เราระบุไว้
สรุปผลการสอบ US Exam (11 Dec 2010) สอบผ่าน EXTRA = 6 (upgrade 2), Gen = 5, Tech = 7 และไม่ผ่าน 6 (upgrade 3) ครับ
  หลายคนคงอยากรู้ว่าสอบแล้วได้อะไร ถ้าอยู่ในประเทศไทยและเป็นคนไทย จะไม่มีผลอะไร เอาไปเทียบอะไรไม่ได้แม้กฏจะเปิดช่องไว้แต่ผู้คุ้มกฏท่านไม่เคยให้สิทธิ
คนที่เดินทางไปต่างประเทศ ดูจะได้ประโยชน์กว่า ถ้าไปอเมริกาก็ออกอากาศได้เลยตามขั้นของใบอนุญาต ถ้าเป็นประเทศอื่นใช้การเทียบได้ครับ ส่วนมากเขายอมรับใบอนุญาตของอเมริกา
จะได้เท่าไรก็ตามระเบียบของแต่ละประเทศ สำหรับผม อยู่แต่ในประเทศไทย สิ่งที่ได้มีเพียงประสบการณ์จริงที่ได้เรียนรู้วิธีการสอบที่แตกต่างกันออกไป วิธีการดูง่าย รวดเร็ว
และการสอบเป็นกลุ่มเล็กๆ ทำให้มีการพูดคุยกัน เข้าใจความเป็นวิทยุสมัครเล่นมากขึ้น ในเมืองไทยน่าจะเอาวิธีการนี้ไปใช้นะครับ สมาคมที่ต้องการมีรายได้เลี้ยงองกรค์จะมีเงินข้ามาเรื่อยๆไม่ต้องรอปีละครั้ง
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมกับตัวนักวิทยุสมัครเล่นจะมีมากขึ้น ไม่ใช่สอบผ่านก็โบกมือลาไม่รู้จักกัน แต่สิ่งที่สำคัญมากๆ คือต้องซื่อสัตย์ ไม่มีการยัดเงินหรือเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะเพื่อให้สอบผ่าน
เราจะได้นักวิทยุสมัครเล่น มากกว่านักใช้วิทยุในความถี่สมัครเล่น แบบในปัจจุบัน
 ผู้ที่อยากลองสอบดูบ้าง ผู้จัดประเมินไว้ว่าน่าจะอีก3เดือนข้างหน้าจะจัดสอบได้อีกครั้งนึง ผมจะอ่านหนังสือเพิ่ม เพื่อหาความรู้จากข้อสอบExtra แต่จะลงสอบหรือไม่ ไว้ตัดสินใจภายหลัง
เทคนิคสำหรับเตรียมสอบที่ผมใช้คือ จำคำถามและจำเฉพาะคำตอบที่ถูกต้อง ดูให้คุ้นตาครับ จำทีละหมวด ทีละน้อย อย่าไปหักโหม ผมใช้โปแกรมชื่อ Ham Acadamy มาทดสอบทำข้อสอบ
และทดสอบทำข้อสอบonline มีในหลายๆเวปครับ ที่ถูกใจคือ http://www.hamradiolicenseexam.com/index.html จะคล้ายกับข้อสอบจริง และมีสรุปให้เราด้วยครับ วางแผนบริหารช่วงเวลาให้ดีครับ ไม่งั้นจะได้หน้าแต่ลืมหลัง
ตอนแรกก็อยากจะลองExtraแต่อ่านคร่าวๆแล้วยากมาก เวลาคงไม่พอ ผมตัดไปเลยจะได้ไม่กังวล เอาเท่าที่พอทำได้ครับ อย่าลืม ความตั้งใจกับเวลา มีสองสิ่งนี้ รับรองผ่านครับ

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประสบการณ์จากการสอบเป็น HAM America ภาค1

ผมได้ทราบข่าวการเปิดสอบเพื่อเป็นนักวิทยุสมัครเล่นของอเมริกา จากทวิทเตอในเวปบอร์ด100watts.com ซึ่งได้linkไปที่เวปของRASTที่ http://www.qsl.net/rast/
มีข้อมูลเล็กๆ ให้ไปดูข้อสอบที่จะใช้สอบและวันเวลาสถานที่สอบ ต่อจากนั้นไม่กี่วันในบอร์ด100watts เอารายละเอียดมาลงเพิ่มเติม คราวนี้ลองเอาข้อสอบมาอ่านดู ซึ่งคร่าวๆก็อยู่ในวิสัยที่จะทำข้อสอบได้
เงื่อนไขในการสมัครเราก็มีพร้อมยกเว้นเรื่องที่อยู่ในอเมริกา ซึ่งเราไม่มีแต่ไม่เป็นไร ไว้แก้ปัญหาเอาทีหลังมีเวลาตั้งสามเดือน ใช้เวลาอยู่1สัปดาห์ในการตัดสินใจว่าจะสอบแน่ๆ
เริ่มจากการหาความรู้เสริมจากเนื้อหาในข้อสอบ เพราะหลายๆข้อเราไม่รู้มาก่อน บางข้อก็ลืมไปแล้ว ผมทำความเข้าใจแนวข้อสอบที่ทำจากpowerpoint  ช่วยได้มากครับ
แนวทางการจำที่ฝรั่งทำสรุปเอาไว้ก็พอช่วยได้ เป้าหมายของผมอยู่ที่สอบผ่านGenernal เท่านั้น ส่วนขั้นExtraนั้นยากไปครับ ยังไม่ถึงเวลา ไว้คราวหน้าครับ
รูปแบบวิธีการสอบของอเมริกาต่างจากในบ้านเราครับ ของเขาสอบอย่างเดียวไม่มีนั่งหลับแล้วกาตามโพยแบบบ้านเรา
ในอเมริกาแบ่งนักวิทยุสมัครเล่นออกเป็น3ขั้น คือ Technician General และExtra ลดลงจาก5ขั้นในสมัยก่อน และไม่ต้องสอบรหัสมอสแล้วครับ
ข้อสอบที่ใช้เป็นข้อสอบกลางมีการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ จะปรับปรุงใหญ่ทุกๆ4ปี ข้อสอบของแต่ละชั้นเขาจะแบ่งออกเป็น10หมวดตามความรู้แขนงต่างๆ ในแต่ละหมวดจะมีกลุ่มย่อย และในแต่ละกลุ่มจะมีหลายๆข้อ
เขาจะสุ่มมากลุ่มละข้อโดยใช้เกณดังนี้
Technician ข้อสอบ35ข้อ ต้องผ่าน29ข้อ
General ข้อสอบ35ข้อ ต้องผ่าน29ข้อ
Extra ข้อสอบ50ข้อ ต้องผ่าน37ข้อ
ค่าสมัครเขาเรียกเก็บ15เหรียญสหรัฐครับ ต้องจ่ายเป็นDollar เงินไทยไม่รับครับ อายุ เพศ วัย เชื้อชาติ สัญชาติ การศึกษา ไม่กำหนดครับ ขอให้ทำข้อสอบที่เป็นภาษาอังกฤษได้ก็พอ
เงินค่าสมัครจ่าย15$ สอบได้ทั้ง3ขั้นเลยครับ สำหรับคนที่ไม่เคยสอบมาก่อน บ้านเราบางจังหวัดที่จัดสอบก็เก็บเกินกำหนดที่ระบุไว้ ใครไม่จ่าย ไม่ขายใบสมัครให้
เมื่อเราทำข้อสอบ เราส่งใบคำตอบ จะได้รับการตรวจในทันที และประกาศผลเดี๋ยวนั้นเลยว่าสอบผ่านหรือเปล่าถ้าผ่านก็ทำข้อสอบขั้นต่อไปถ้าไม่ผ่านก็ขอสอบซ่อมได้แต่ต้องจ่ายอีก15$ตามกฏ
หลังสอบจนพอใจ เราจะได้ใบCertificates ยืนยันผลการสอบ จากนั้นต้องรออีกประมาณสองสัปดาห์FCC จะส่งใบอนุญาตและcallsign ทางจดหมายไปตามที่อยู่ที่เราให้ไว้แต่ต้องในอเมริกานะครับ เขาไม่ส่งมาเมืองไทย
ในบ้านเรากว่าจะรู้วันสอบ วันขายใบสมัคร กว่จะไปสอบ ประกาศผลสอบ รอใบประกาศนียบัตร ใช้เวลาเป็นปี ดีนะที่ยกเลิกระเบียบการสอบประวัติไปแล้ว หรือถ้าจะสอบเลื่อนขั้นเป็นขั้นกลางต้องรออีกสามชาติ
หน่วยงานที่ดูแลวิทยุสมัครเล่นในอเมริกา คือFCC เมื่อก่อนก็จัดสอบเองแต่ปัจจุบันจะมอบหมายให้องกรค์ที่เรียกว่าVEC เป็นคนจัดสอบ VEC จะมีสมาชิกเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่มีใบอนุญาตระดับGeneralขึ้นไปมาทำหน้าที่VE
หรืออาสาสมัครคุมสอบ ซึ่งใช้VEเพียง3คนแต่VEที่คุมสอบต้องมีระดับที่สูงกว่าขั้นที่จะสอบ เช่นจัดสอบTechnicianต้องใช้Generalขึ้นไป ถ้าสอบGeneralต้องใช้ AdvanceหรือExtra
กำหนดวันสอบนี่ก็ง่ายครับ รวมตัวกันให้ได้จำนวนนึงก็ขอสอบได้แล้ว ไม่ต้องรอปีละครั้งแบบบ้านเรา แต่จะประกาศล่วงหน้าทางเวปครับ เราไปหาดูได้ว่าเมืองใกล้บ้านเราเขาจะสอบเมื่อใด
 ผมใช้เวลา3เดือนก่อนวันสอบทำความเข้าใจข้อสอบไปเรื่อยๆครับ ไม่กังวลอะไร ยกเว้นเรื่องที่อยู่ในอเมริกา จนได้ E20EHQ ให้ใช้ที่อยู่ของเพื่อนในอเมริกา ผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ผมถึงได้ส่งเอกสารไปลงทะเบียน ตามกฏของผู้จัดในประเทศไทย
ในตอนนี้ไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว ไว้วันสอบเจอกันครับ คราวนี้ของจริง

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นักวิทยุสมัครเล่นกับภัยพิบัติ

ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ประเทศไทยเจอพายุฝนหนักๆอยู่2ระลอก ชุดแรกฝนตกหนักบริเวณเขาใหญ่
จนเกิดน้ำป่าใหลทะลักเข้าท่วมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน น้ำจากจังหวัดนครราชสีมายังได้กระจายไปท่วมจังหวัดใกล้เคียงและส่วนใหญ่ของภาคกลาง
นักวิทยุสมัครเล่นในจังหวัดนครราชสีมาใด้ใช้รีพีทเตอร์ที่ติดตั้งบนยอดเขายายเที่ยง ประสานงานเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีการถ่ายทอดเสียงจากรีพีทเตอร์เข้าระบบEcholinkให้ในส่วนกลางได้รับรู้ความเคลื่นใหว
ระลอกที่สองเว้นว่างไม่กี่วัน ลมมรสุมในอ่าวไทยได้แปรสภาพเป็นดีเปรสชั่น เข้าโจมตีจังหวัดสงขลาพัทลุงและใกล้เคียง น้ำได้ท่วมกระจายเป็นวงกว้าง
เมืองหาดใหญ่จมเป็นทะเลอีกครั้งหลังจากโดนท่วมหนักเมือปี2543 จุดที่ไม่เคยท่วม ในครั้งนี้ ด้รับผลกระทบอย่างหนักและทั่วถึง
บทบาทการเป็นพระเอกในเงามืดของนักวิทยุสมัครเล่นได้เริ่มอีกครั้ง เพราะระดับน้ำสูงทำให้ไฟฟ้าดับ การสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือขัดข้อง
  การสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสารจึงมีประสิทธิภาพที่สุด นักวิทยุสมัครเล่นออกทำหน้าที่ทันทีโดยไม่ต้องมีใครมาสั่ง ประสานงานกันเองหาเรือซึ่งได้มาไม่กี่ลำ หารถมาช่วยแจกอาหาร
นำส่งคนเจ็บ คนป่วย หญิงใกล้คลอด รายงานสภาพน้ำ ความเสียหาย ในขณะที่หน่วยราชการไม่ขยับตัว มัวแต่ประชุม วางแผน รอคำสั่ง จนหมดเวลาไปหนึ่งวัน
ค่ายทหารที่อยู่ในพื้นที่มีแต่คนไม่มีอุปกรณ์ ไม่กล้าตัดสินใจ
วันรุ่งขึ้นความเสียเริ่มชัดเจนมีคนจำนวนมากขาดอาหารและน้ำ นักวิทยุสมัครล่นได้กระจายตัวช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตามกำลังที่มีอยู่
อุปกรณ์ช่วยเหลือเข้ามามากขึ้น แต่ของไปกระจุกตัวอยู่ในบางจุดเช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นจุดหลัก ดูเหมือนดีแต่กลับตรงกันข้าม
ไม่มีการกระจายของสู่มือผู้ประสบภัย ใครจะไปขอรับต้องอ้างต้นสังกัดหน่วยงานใหญ่โตถึงจะรับออกมาได้ และมีนำเสนอข้อมูลให้ความหวังในเรื่องอุปกรณ์ น้ำและอาหารอยู่หลายครั้งจนใช้ต้องคำว่า"โดนหลอก"
ทางกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นจึงได้ตัดสินใจว่าจะต้องทำด้วยตัวเองไม่สามารถรอใครได้แล้ว บริหารจัดการกันด้วยความร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่  ได้รับความร่มมือจากกลุ่มต่างๆที่ไม่สังกัดหน่วยราชการ และไม่ได้ทำงานเอาหน้า
ซึ่งได้แสดงประสิทธิภาพออกมาให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ จากการถ่ายทอดเสียงการสื่อสารผ่านระบบเอคโค่ลิ้ง และถ่ายทอดเป็นเวปสตีมมิ่งให้ผู้ไม่ได้เป็นนักวิทยุสมัครเล่นได้รับฟัง
หน่วยงานหลายหน่วยได้เข้ามาขอข้อมูล ที่นักวิทยุสมัครเล่นได้รวบรวมไว้ เพราะเป็นข้อมูลที่เป็นจริง เชื่อถือได้ และเป็นปัจจุบัน เอาใปรายงานผู้บังคับบัญชา
วันถัดมาการช่วยเหลือเข้ามาอย่างหนาแน่น แต่ยังคงไปกระจุกตัวในตัวเมือง กลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นทำสวนทาง กระจายตัวช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในรอบนอกที่การช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง ในขณะที่พวกอยากได้หน้าได้ตาจะวุ่นวายกับสื่อจนถูกเรียกว่าเป็นการ"ถ่ายทำมิวสิควีดีโอ"
นักวิทยุสมัครเล่นผู้ปิดทองหลังพระยังคงตั้งหน้าตั้งตาช่วยเหลือในจุดตกค้างต่อไป
  ในยามสงบกลุ่มของเราได้รับการมองข้าม ไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงใจจากผู้ควบคุมดูแลจากภาครัฐ ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงมาตลอด
ซึ่งมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับโทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เน็ทที่มีข่าวลงตามสื่อเป็นประจำ แทบทุกวัน แต่เมื่อใดมีเหตุ พวกเราได้ใช้ความสามารถของเราอย่างเต็มที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
  จากเหตุวิกติที่เกิดขึ้นทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่น
ผู้ทำหน้าที่ เป็นnet operatorซึ่งสำคัญมาก ต้องมีความใจเย็น จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง เปิดโอกาศให้ทุกคนอย่างเท่ากัน รู้ว่าจะพูดรับพูดโต้ตอบคนที่แย่งกันขอความช่วยเหลือและให้ข้อมูลอย่างไร
จดจำสิ่งต่างๆได้อย่างดี รู้จักภูมิประเทศ ถนน หมู่บ้าน สถานที่สำคัญ จุดสังเกตุหลักๆ
คนให้ข่าวสารต้องให้ข้อมูลด้วยภาษาที่ชัดเจนไม่รีบร้อน  งดการใช้ระหัสคำย่อทุกชนิดเพราะไม่ได้ช่วยประหยัดเวลาอะไร
ให้รายละเอียดจุดเกิดเหตุมากพอสำหรับผู้ที่จะช่วยเหลือเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาหาหรือสับสนกับชื่อหมู่บ้านหรือชื่อถนน ซอยที่อาจคล้ายกัน
ไม่รับปากในสิ่งที่ทำไม่ได้หรือไม่รู้ว่าจะทำได้เมื่อใด
ไม่กระจายข่าวที่ไม่เป็นจริง คลุมเคลือ หากได้ข่าวมาไม่ว่าดีหรือร้าย ต้องมีการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และผู้ที่เชื่อถือได้มาช่วยกลั่นกรองตรวจสอบ
ประสานงานกับเครือข่ายต่างๆทั้งให้ข้อมูลและขอข้อมูลได้ 
มีอุปกรณ์สือสารที่มีความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องพลังงานสำรองสำหรับสถานีประจำที่และเครื่องมือถือภาคสนาม
ต้องรู้จักวิธีใช้อุปกรณ์สื่อสาร รู้วิธีตั้งช่องรีพีทเตอร์เพราะเหตุที่ผ่านมามีคนจำนวนมากตั้งรีพีทเตอร์ไม่เป็น หรือไม่รู้ว่าความถี่ใดเป็นรีพีทเตอร์
มีการจัดเตรียมอุปกรณ์จะต้องใช้ในยามฉุกเฉิน สามารถหยิบจับมาใช้ได้ทันทีที่จำเป็น
 ผู้เขียนblogซึ่งก็เป็นนักวิทยุสมัครเล่นกับเขาคนนึง ไม่มีโอกาศได้เข้าไปช่วยเหลือ สิ่งที่ทำได้คือให้กำลังใจ และขอขอบคุณเพื่อนนักวิทยุมัครเล่นผู้เสียสละทุกท่าน ด้วยความจริงใจ